
ประชาชนมีสิทธิจะได้รับรู้อะไรบ้าง
พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ.2540 เป็นกฎหมายที่รองรับ “สิทธิได้รู้” ของประชาชนโดยได้กำหนดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการและได้กำหนดหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อรองรับและคุ้มครองสิทธิของประชาชนไปพร้อมกันโดยมีแนวคิดหลักการเพื่อ
1.ให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆของรัฐโดยกำหนดข้อยกเว้นให้ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปอย่างโปร่งใสอันเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาสังคมประชาธิปไตย
2.รองรับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการที่มีอยู่ในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ สิทธิได้รู้ข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐนำลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา สิทธิในการตรวจดูข้อมูล สิทธิในการขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการนอกจากข้อมูลที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาแล้วหรือจัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ สิทธิในการขอรับสำเนาหรือขอให้รับรองสำเนาถูกต้อง สิทธิในการขอดูหรือขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตนจากหน่วยงานของรัฐ สิทธิคัดค้านการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่มีผลกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของตนภายในเวลาที่กำหนด สิทธิในการร้องเรียน และสิทธิในการอุทธรณ์
3.ข้อมูลข่าวสารของราชการเกือบทั้งหมดหรือส่วนใหญ่จะต้องสามารถเปิดเผยได้ภายใต้หลักการที่ว่า “เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น” โดยข้อยกเว้นจะมีได้เฉพาะกรณีที่มีกฎหมายกำหนดว่าไม่ต้องเปิดเผยเท่านั้น